วันพฤหัสบดีที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

คำถามร้อนๆ กับนักธรณีวิทยา

ขอขอบพระคุณ รองศาสตราจารย์ ดร. มนตรี ชูวงษ์ ภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ---------------------------------------------------------------------------------------- ก่อนที่จะเข้าสู่คำถามร้อนๆ ที่ค้างคาใจกับหลายๆ ท่าน แต่ไม่ทราบจะไปสอบถามใครที่สามารถเชื่อถือได้ วันนี้ทีมงานวิชาการดอทคอมได้ไปสัมภาษณ์นักวิชาการรุ่นใหม่ ที่รับประกันได้ถึงความเก่งกาจจากรางวัลที่ได้รับมากมาย มารู้จักกับ รองศาสตราจารย์ ดร.มนตรี ชูวงษ์ ภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กันค่ะ อาจารย์เรียนจบระดับปริญญาตรีและระดับปริญญาโทที่ภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และจบระดับปริญญาเอกทางด้านธรณีวิทยา จากมหาวิทยาลัย Isukuba ประเทศญี่ปุ่นค่ะ เคยได้รับรางวัลผลการเรียนสูงสุดระดับปริญญาโท จากมูลนิธิแถบ นีละนิธิ เหรียญทองรางวัลงานวิจัยระดับปริญญาเอกจาก Japan Society for the Promotion of Sciences ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (JSPS - NRCT) และเพิ่งจะได้รับรางวัล นักวิจัยรุ่นใหม่ดีเด่น สกว. - สกอ. ประจำปี 2552 ด้วยค่ะ (ติดตามประวัติโดยละเอียดด้านล่างของบทความค่ะ) อาจารย์ได้รับทุนพัฒนานักวิจัยรุ่นใหม่ของ สกว. – สกอ. ปัจจุบันผมรับทุนพัฒนาศักยภาพอาจารย์รุ่นใหม่ของ สกว-สกอ ซึ่งเป็นทุนทำวิจัยต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 2 ปี ตั้งแต่ พฤษภาคม 2551- พฤษภาคม 2553 ในหัวข้อโครงการเรื่อง การติดตามการฟื้นฟูสภาพหาดทรายหลังเหตุการณ์สึนามิเมื่อปี 2547 และการสำรวจร่องรอยสึนามิในอดีตตามแนวชายฝั่งทะเลอันดามัน ซึ่งจริงๆ แล้วเป็นงานต่อยอดจากทุนพัฒนาศักยภาพนักวิจัยรุ่นใหม่ที่เคยได้รับจาก สกว-สกอ ตั้งแต่ปี 2548 ที่ผมได้ทำวิจัยเกี่ยวกับอัตราการกัดเซาะชายฝั่งจากชายฝั่งทะเลไทย ผมประเมินว่า หัวข้อโครงการวิจัยที่ผมเสนอไปจัดเป็นโจทย์วิจัยทางกายภาพที่สังคมต้องการคำตอบ โดยเฉพาะงานวิจัยที่ทำมีผลกระทบต่อสังคมสูง (high social impact) ประเด็นสำคัญคือ ผลงานวิจัยสามารถนำไปเผยแพร่ในรูปบทความวิชาการในวารสารวิชาการระดับนานาชาติได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นสิ่งที่ทาง สกว-สกอ เจ้าของทุนต้องการให้เป็นเช่นนั้น แต่เนื่องจากตอนรับทุน ผมถูกจัดอยู่ในกลุ่มนักวิจัยและอาจารย์รุ่นใหม่ ซึ่งคงคล้ายๆ กับอีกหลายๆ ท่านที่ได้รับทุนดังกล่าว คือ เป็นช่วงเวลาที่ต้องสร้างผลงานให้เป็นที่ชัดเจน หลายคนยังไม่สามารถผลิตผลงานในรูปบทความวิชาการได้ แต่ด้วยความโชคดีเหมือนกันที่ผมสามารถปิดโครงการได้ (โครงการวิจัยที่ได้รับเมื่อปี 2548) จึงได้รับทุนพัฒนาศักยภาพอาจารย์รุ่นใหม่ต่อ และกำลังจะได้รับทุนเมธีวิจัย ประจำปี 2553 (สกว เพิ่งประกาศผลไม่นานนี้เอง) ซึ่งทำให้สามารถทำวิจัยต่อเนื่องในประเด็นพิบัติภัยชายฝั่ง คือ สึนามิ และคลื่นพายุซัดชายฝั่ง (storm surge) ได้อีก 3 ปี เหตุผลที่ได้รับคัดเลือกให้เป็นผู้ชนะเลิศรางวัลนักวิจัยรุ่นใหม่ดีเด่น สกว. - สกอ. ประจำปี 2552 (สาขาวิทยาศาสตร์กายภาพ) TRF-CHE Scopus Young Researcher Award 2009 (Physical Sciences) ด้วยว่าปี 2552 ที่ผ่านมา ทาง สกว-สกอ ได้ร่วมกับสำนักพิมพ์ Elsevier ซึ่งเป็นเจ้าของฐานข้อมูลบทความและวารสารวิชาการนานาชาติ ที่เรียกว่า Scopus ในการเข้ามาเป็นกรรมการกลั่นกรองผลงานวิจัยของนักวิจัยไทยผู้ที่ได้รับทุนจาก สกว-สกอ โดยเกณฑ์การตัดสินหลักๆ ก็คงเป็น จำนวนผลงานวิจัยที่เผยแพร่ในรูปบทความวิชาการในระดับนานาชาติที่เผยแพร่ในวารสารที่อยู่ในฐานข้อมูลของ Scopus จำนวนการอ้างอิงผลงานของเราหลังจากได้เผยแพร่แล้ว และคุณภาพบทความที่มีผลกระทบต่อสังคมสูง โดยทาง สกว-สกอ-Scopus ได้แบ่งสาขาวิชาออกเป็น 6 สาขา ซึ่งวิทยาศาสตร์กายภาพ ก็เป็นหนึ่งในนั้น สำหรับนักวิจัยรุ่นใหม่ดีเด่น ที่เข้าข่ายจะได้รับรางวัล ทาง สกว-สกอ ได้ทำหนังสือเชิญสมัคร เข้าใจว่า ในสาขาวิทยาศาสตร์กายภาพมีผู้เข้าข่าย 8 ท่าน หลังจากนั้นทาง สกว-สกอ-Scopus ก็คงใช้เกณฑ์ที่บอกไปข้างต้นในการพิจารณาตัดสิน ตอนแรกผมก็ไม่ได้หวังอะไร พอทาง สกว ส่งจดหมายว่าให้เราสมัคร เราก็ลองสมัครไป กรอกข้อมูลเข้าไปในเวปไซต์ของ Scopus พอหลังจากสมัครไปประมาณ สามเดือน ทาง สกว ก็มีจดหมายมาบอกว่า เราได้รับรางวัล ตอนแรกก็ยัง งงๆ อยู่ว่าเราได้เหรอ เพราะอย่างที่บอก นักวิจัยทั่วประเทศมีมากมาย และในสาขาวิทยาศาสตร์กายภาพ (ซึ่งรวมสาขาเคมี ฟิสิกส์) ที่มีนักวิชาการมากมาย เรายิ่งไม่ค่อยหวังเลย ก็คงด้วยว่า เราได้เผยแพร่ไป 4 บทความ ที่เป็นผู้เขียนหลัก และอีก 2 บทความเป็นผู้เขียนร่วม และมีการอ้างอิงงานของเราแล้วในระดับสากล ซึ่งผลรวมของค่า Journal Impact Factor ของบทความทั้งหมด ก็ได้ 40 กว่า บทความที่ผมเผยแพร่ไปในวารสารทางธรณีวิทยา ก็จัดว่าเป็นวารสารที่มี ค่า Impact factor ระดับต้นๆ (ทางธรณีฯ วารสารต่างๆ มีค่า Impact factor ไม่มากครับ ได้ลงในวารสารที่มีค่า Impact factor สัก 2-3 ก็จัดว่าดีแล้วครับ) อีกเหตุผลหนึ่งก็คงเป็นว่าหนึ่งในบทความที่ผมเป็นนักวิจัยและผู้เขียนร่วมได้ลงเผยแพร่ในวารสาร Nature ซึ่งเป็นวารสารที่คนอ่านเยอะ มีค่า Impact Factor สูงมาก ก็เลยได้รับรางวัล ภาระหน้าที่/ผลงานในปัจจุบันและอนาคต หน้าที่หลักก็คงเป็นงานสอนนิสิตในภาควิชาธรณีวิทยา สอนหลายวิชาอยู่ครับ สอนทั้งแบบบรรยายและแบบวิจัยทุกระดับตั้งแต่ปริญญาตรี ปริญญาโท ไปถึงปริญญาเอก และก็ต้องทำวิจัยควบคู่กันไปอย่างต่อเนื่องด้วย ทำไปเรื่อยๆ ไม่รีบเร่ง เพราะงานทางธรณีวิทยาต้องใช้ข้อมูลสนามเป็นหลัก ผมเน้นเลยว่า กว่าจะได้ผลงานออกมาแต่ละชิ้น (หมายถึง บทความ) เหนื่อยมาก ต้องออกสำรวจภาคสนามหลายครั้ง แต่ก็ดีครับ เพราะ ออกภาคสนามแต่ละครั้งจะมีนิสิตในความดูแลของผม ติดตามไปด้วยเป็นกลุ่มใหญ่เลย ทุกคนได้ฝึกฝนวิทยายุทธ์การทำงานภาคสนาม การเก็บข้อมูลที่เป็นระบบอย่างละเอียด ได้คิดและลองผิดลองถูกกันไปเรื่อยๆ ส่วนใหญ่ทำงานชายทะเล ร้อนมาก แต่พอเห็นทะเลสวยๆ ก็หายเหนื่อยกันครับ พวกเราไปมาเกือบทุกชายหาด ผมคุยได้เลยว่า ชายหาดอันดามัน ของจังหวัดภูเก็ต พังงา ระนอง กระบี่ รวมถึงชายหาดฝั่งอ่าวไทยตั้งแต่นครศรีธรรมราชขึ้นมา เราไปเจาะสำรวจกันเกือบหมดแล้ว มีข้อมูลเยอะมาก ตอนนี้ก็ทยอยผลิตเป็นบทความออกมา นอกจากผลงานในรูปบทความวิชาการแล้ว (ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลงานการสำรวจระดับลึกและเป็นภาษาอังกฤษ) ผมคิดว่าต้องทำอะไรบางอย่างในการนำผลงานเผยแพร่ให้แก่สังคมด้วย สิ่งที่ทำได้คือ เขียนบทความเป็นภาษาไทยให้เข้าใจง่ายๆ อ่านแล้วสนุก หรือไม่ก็ทำเป็นหนังสือ ซึ่งตอนนี้ก็กำลังเขียนอยู่เล่มหนึ่ง ชื่อ สึนามิในประเทศไทย ใกล้เสร็จแล้วครับ ส่วนบทความภาษาไทยก็เคยเขียนลงนิตยสาร สารคดี ไปบ้างแล้ว เข้าใจว่า ทางวิชาการดอทคอม ก็ได้นำบทความ เรื่อง ตามรอยสึนามิโบราณ มาลงไว้เหมือนกัน ก็อยากจะเขียนเรื่อยๆ ครับถ้ามีเวลา (ข่าวดี คือ อาจารย์บอกว่า ถ้ามีเวลาจะเขียนบทความมาลงในวิชาการดอทคอมให้ด้วยนะคะ) จากนี้ไปจะเป็นบทสัมภาษณ์เกี่ยวกับคำถามร้อนๆ เกี่ยวกับกระแสข่าวต่างๆ สืบเนื่องจากกระแสข่าวที่ว่าโลกจะแตกใน 2012 จะมีโอกาสเป็นจริงหรือไม่ ประเด็นนี้ กำลังเป็นที่กล่าวขานในสังคมทั่วโลก คนส่วนใหญ่วิตกกังวลว่า จะเกิดขึ้นจริง แต่สำหรับผม ตอบได้ชัดเจนและเต็มปากเลยว่า ไม่มีทางเกิดขึ้นได้เลยครับ ถามต่อไปว่า ทำไมผมคิดสวนกระแส คำตอบก็ง่ายๆ ครับว่า ไม่มีข้อมูลวิชาการเลยครับที่จะบ่งชี้ว่า โลกจะแตกในปี 2012 แต่ถ้าถามผมว่า จะเกิดพิบัติภัยอะไรบ้างในอนาคต อันนี้มีข้อมูลวิชาการชัดเจนหลายสาขาที่บอกว่า โลกของเรากำลังปรับสมดุล ทั้งในเรื่องพลังงานในโลก บนพื้นผิว และสภาพบรรยากาศ ซึ่งการปรับตัวนี้แน่นอน สามารถส่งผลกระทบในหลายรูปแบบ เช่น หากพลังงานในโลกของเรามากเกินไป ก็ปล่อยออกมาในรูปของแผ่นดินไหวบ้าง การระเบิดของภูเขาไฟบ้าง หากอุณหภูมิสูงขึ้นอันเนื่องจากมีการกระตุ้นจากกิจกรรมของมนุษย์ ก็อาจจะส่งผลต่อการผันแปรของสภาพภูมิอากาศบ้าง ผมไม่ได้บอกว่า โลกจะร้อนนะ ผมไม่ชอบคำนี้เท่าไหร่ ผมประเมินว่า โลกร้อน เป็นแค่เสี้ยวหนึ่งของความผันแปรสภาพภูมิอากาศโลก หลายๆ แห่งบนโลกปีนี้ หิมะตก หรืออุณหภูมิต่ำกว่าที่ควรเป็น อีกสักพักพวกเราก็ปรับตัวได้ และโลกก็จะกลับเข้าสู่ภาวะสมดุลมีการเปลี่ยนแปลงปกติ ผมเชื่อตลอดเวลาว่า ไม่มีใครไปหยุดกระบวนการปรับตัวของโลกได้ เรากระตุ้นได้แต่ไม่ใช่ทั้งหมด แต่หากไม่หยุดกระตุ้นนี่สิ ปัญหามันก็จะไม่หยุด (ซึ่งผมก็คิดว่า กิจกรรมต่างๆ ที่เราทำ สารพิษต่างๆ ที่เราปล่อยไปสู่ธรรมชาติ เราหยุดไม่ได้แน่นอน ก็คงต้องปรับตัวตามสภาพและยอมรับว่า โลกจะมีการเปลี่ยนแปลงต่อไป) ผมคิดว่า คนอ่านวิชาการดอทคอม ส่วนใหญ่ก็สนใจเรื่องราววิทยาศาสตร์และสามารถประเมินวิเคราะห์ได้ว่าอะไรมีเหตุผลน่าเชื่อถือ สำหรับเรื่องโลกจะแตก เดาว่าหลายคนคงคิดอย่างผมว่า ควรจะแยกให้ออกว่า เหตุและผลคืออะไร คนทำหนังก็อยากทำให้มันตื่นเต้น เร้าใจ ทำออกมาให้มันดูยิ่งใหญ่ เรื่องนี้ก็เหมือนกับเรื่องก่อนๆ ทำหนังเรื่องพิบัติภัยนี่แหละ คนดูสนใจเยอะ ยิ่งเอามาผูกโยงกับกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลกด้วยแล้ว ยิ่งดีเลย ขายได้แน่นอน สภาวะโลกร้อนที่ว่าน้ำแข็งที่ขั้วโลกจะละลายนั้น ในอนาคต น้ำจะท่วมโลกหรือไม่ และจะส่งผลให้กรุงเทพฯ และสมุทรปราการน้ำจะท่วม แผ่นดินจะหายไปหรือไม่ ที่ว่าจะหายจากแผนที่โลก เรื่องนี้ต้องอธิบายกันยาวมากครับ เอาเป็นว่า ผมขออธิบายในระดับผลกระทบทั่วโลกก่อนนะ สำหรับเรื่อง สภาวะโลกร้อน ปัจจุบันทุกคนยอมรับว่า อุณหภูมิของโลกมีแนวโน้มสูงขึ้น ซึ่งไม่ได้มีสาเหตุจากธรรมชาตินะ ต้องยอมรับว่า สาเหตุเกิดจากการกระตุ้นจากกิจกรรมของมนุษย์ที่สะสมมานาน แต่เดิมเมื่อสิบกว่าปีก่อนเราเรียกว่า สภาวะเรือนกระจก (greenhouse effect) ซึ่งเกิดจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (greenhouse gases) กันอย่างไม่หยุดยั้ง สิ่งนี้เองที่ส่งผลอย่างชัดเจนในปัจจุบันที่ทุกคนเหมาว่า โลกร้อน ซึ่งมันก็ร้อนขึ้นจริงๆ โดยเฉพาะในเมืองใหญ่ๆ อาจจะเกิดภาวะที่ดูเหมือนว่าจะเป็นโดมความร้อนปกคลุมอยู่ (ขออนุญาตยืมคำของ ดร. อานนท์ สนิทวงค์ ณ อยุธยา ผู้เชี่ยวชาญตัวจริง) ตัวอย่างในกรุงเทพฯ นี่แหละชัดเจนที่สุด แน่นอนว่า อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกสูงขึ้นแน่ๆ แต่ถามว่า สูงขึ้นเท่าไหร่ ในอีกกี่ปี ก็มีคนทำนายไว้ เชื่อได้บ้าง เชื่อไม่ได้บ้าง บางคนก็ทำนายไว้โดยสมมติกรณีที่ร้ายแรงที่สุด (worse case scenario) ว่า อุณหภูมิเฉลี่ยอาจจะสูงขึ้นถึง 2 องศา ในรอบสิบปีที่จะถึงนี้ ซึ่งหากเกิดจริง การละลายของน้ำแข็งขั้วโลก ต้องเกิดขึ้นตามมาอย่างแน่นอน แต่ใช่ว่า จะละลายหมดในพริบตาเลยนะ มันจะค่อยๆ ละลาย แตกตัวออกจากแผ่นน้ำแข็งก่อน ที่หลุดออกมาก็จะลอยออกสู่มหาสมุทร (ซึ่งก็กำลังเกิดในปัจจุบัน) ผลกระทบต่อมาก็คือ มวลน้ำแข็งละลายก็จะทำให้ระดับน้ำทะเลทั่วโลกสูงขึ้น (Eustatic sea level rise) เท่าที่ตามดูผลงานการวิจัยของนักวิจัยที่ทำงานด้านนี้จริงๆ ก็สรุปเป็นทำนองเดียวกันว่า ระดับน้ำทะเลเฉลี่ยทั่วโลก (Global sea level) อาจจะสูงขึ้น 10 เซนติเมตรในอีกร้อยปีข้างหน้า (หากอุณหภูมิเฉลี่ยสูงขึ้นเรื่อยๆ อย่างต่อเนื่อง) บางคนบอกว่าจะสูงขึ้น 1-2 เมตร (ข้อมูลนี้ผิดแน่นอนครับ) ก็เพราะไปรับหรือแปลข้อมูลผิดๆ กันนี่แหละ ก็กลายเป็นประเด็นสำคัญที่หลายคนออกมาประโคมข่าวว่า น้ำทะเลจะท่วมกรุงเทพ พื้นที่บางส่วนของประเทศไทยจะจมน้ำ ซึ่งผมไม่ค่อยสบายใจเลย ไม่ใช่เพราะว่ามันจะเกิดขึ้นจริงนะ ผมไม่สบายใจเพราะว่า สื่อและสังคม ไปหลงเชื่อกระแสพวกนี้ ผมมีข้อมูลวิชาการที่มีผู้เชี่ยวชาญจริงๆ เคยทำไว้ คือ ศาสตราจารย์ ดร. สุภัทร วงค์วิเศษสมใจ ท่านเคยเป็นอาจารย์ที่สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT) อ้างชื่อท่านได้เลย เพราะท่านเป็นผู้บุกเบิกทำวิจัยเรื่องการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำทะเลมานาน และสมควรที่จะต้องให้เครดิตท่านด้วย (หลายคนเอางานท่านไปใช้โดยไม่ให้เครดิต) ท่านอาจารย์เคยให้ลูกศิษย์ทำวิจัยว่า ระดับน้ำทะเลในประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ ย้อนกลับไป 50-60 ปี ผลปรากฏว่า ระดับน้ำทะเลปานกลางของไทยมีการเปลี่ยนแปลงไม่มากเลย อาจจะพูดได้ว่า คงที่ตลอดเวลา แล้วอย่างนี้จะบอกน้ำทะเลจะท่วมชายฝั่งทะเลไทยจากสาเหตุน้ำทะเลขึ้นสูงได้หรือ ผมคิดว่า คงต้องดูปัจจัยอื่นๆ ประกอบด้วยและวิเคราะห์อย่างรอบคอบว่า ตกลงน้ำทะเลจะท่วมเข้าไปในแผ่นดินด้วยสาเหตุอะไรกันแน่ จะกล่าวถึงต่อไปครับ


อ้างอิง : http://www.vcharkarn.com/varticle/40280

ภัยผู้หญิงของนักศึกษาฝึกงาน



จากข่าวดังที่ทยอยออกมาเรื่อยๆ กับนายจ้างและรุ่นพี่ที่ร่วมงานด้วยกัน ทำพฤติกรรมหัวงู พยายามจีบหรือเอาใจนักศึกษาฝึกงานเกินขนาด หรือแม้แต่บางคนโชคร้ายโดนหลอกลวงจนเสียใจมาแล้วมากมาย ทางที่ดีน้องๆ นักศึกษาฝึกงานทั้งหลายต้องระวังและเตรียมตัวไว้ดังนี้

แต่งกายรัดกุม

แต่งกายด้วยชุดนักศึกษาที่รัดกุม ใส่เสื้อพอดีตัว และใส่กระโปรงยาวพอสมควร อย่าแต่งกายแบบเน้นทรวดทรงรูปร่างมากเกินไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งกิริยาท่าทางไม่ควรนั่งไขว่ห้าง จนสามารถมองเห็นช่องว่างระหว่างกระโปรงหรือเวลาก้มให้ปิดช่วงคอเสื้อไว้ จะทำให้น้องๆ ปลอดภัยจากสายตาบ้ากามมากขึ้น

อย่ามองโลกในแง่ดี

อย่าคิดว่าการแตะเนื้อต้องตัว คุยเล่นหยอกล้อ ตีสนิทหรือการที่มีพี่ๆ บางคนบริการพิเศษให้เป็นเรื่องปกติธรรมดา เพราะธรรมชาติของผู้ชายหว่านพืชมักหวังผล อย่าหลงให้พวกพี่ๆ ไปส่งบ้าน หรือไปกินเลี้ยงบริษัทในตอนกลางคืนโดยไม่มีพี่ๆ ผู้หญิงไปด้วย หรือควรปลีกตัวกลับก่อนที่งานเลี้ยงจะเลิก

เว้นการทำงานสองต่อสอง

ห้ามน้องๆ อยู่ทำงานสองต่อสองกับรุ่นพี่ชายเด็ดขาดโดยให้เลี่ยงหรือชวนเพื่อนเข้าไปนั่งด้วย หากจำเป็นจริงๆ ให้เปิดประตูห้องไว้ และอยู่ใกล้ประตูให้มากที่สุด ที่สำคัญถ้าต้องไปทำงานต่างจังหวัด แล้วไม่มีพี่ๆ ผู้หญิงร่วมงานหรือเพื่อนๆ ที่ฝึกงานด้วยกันให้หลีกเลี่ยงดีกว่า


ให้พี่ชายมารับ

น้องๆ อาจจะต้องเล่นละครสักนิดว่ามีเพื่อนชายแล้วอาจจะสมมติเป็นตำรวจหรือทหารที่สามารถเล่นงานพวกรุ่นพี่หัวงูได้ เพื่อปกป้องตัวเองไปในตัว หรืออาจจะให้น้องชายหรือพี่ชายมารับกลับบ้านบ้างเป็นบางครั้ง แสดงให้รู้ว่าเราระมัดระวังตัวอยู่ตลอดเวลา

หากถูกลวนลามควรแจ้งมหาวิทยาลัย

ทางมหาวิทยาลัยและอาจารย์ที่ปรึกษา มีบทบาทหน้าที่ในการดูแลนักศึกษาที่เข้าฝึกงานในแต่ละสถานที่อยู่แล้ว ดังนั้น หากเกิดอะไรที่ไม่ชอบมาพากล น้องๆ ควรให้เพื่อนๆ แอบถ่ายคลิปหรืออัดเสียงระหว่างที่ถูกบรรดาพี่ๆ หัวงูพยายามจะลวนลาม ให้เป็นหลักฐานเอาผิดและทำเรื่องย้ายสถานที่ฝึกงานทันที

อ้างอิง :http://www.konmun.com/Variety/id4987.aspx

นักประดิษฐ์อเมริกันผลิตปูนซีเมนต์ ที่ไม่เป็นพิษเป็นภัยต่อสิ่งแวดล้อม


ปูนซีเมนต์นั้นเป็นส่วนผสมที่สำคัญของคอนกรีต ซึ่งเป็นวัสดุที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย ไม่ว่าจะในการสร้างถนน สะพาน และอาคาร แต่การผลิตปูนซีเมนต์ต้องอาศัยการเผาหินปูน และวัตถุอื่นๆ ซึ่งเป็นเหตุให้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ระเหยขึ้นสู่บรรยากาศ

ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์นี้เป็นตัวการสำคัญในการทำให้โลกร้อน นักประดิษฐ์ชาวอเมริกันผู้หนึ่งกำลังดำเนินงานโดยใช้ปูนซีเมนต์สีเขียว ซึ่งสามารถกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว

ที่บริษัทคาเลร่าในรัฐแคลิฟอร์เนีย ซึ่งเป็นที่ๆ คุณเบรนท์ คอนสแตนท์ซ ทำงานอยู่ นักวิทยาศาสตร์เอาอากาศผสมกับน้ำทำเป็นผลิตภัณฑ์คอนกรีต อย่างเช่น กรวดขาว และเสาคอนกรีต ซึ่งเพิ่งผ่านการทดสอบว่าทนทานน้ำหนักได้แค่ไหน และยังมีอะไรต่อมิอะไรอีกหลายอย่าง

ขณะที่ปูนซีเมนต์ยี่ห้อพอร์ตแลนด์ทำให้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ระเหยขึ้นสู่บรรยากาศมากขึ้น และปูนซีเมนต์เขียวของบริษัทคาเลร่าช่วยกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ออกไปจากบรรยากาศได้เป็นปริมาณมากทีเดียว สำหรับคาร์บอนแต่ละหน่วยที่ปูนซีเมนต์ยี่ห้อพอร์ตแลนด์ปล่อยขึ้นสู่บรรยากาศ คุณเบรนท์ คอนสแตนท์ซ กล่าวว่า ปูนซีเมนต์เขียวจะกักเก็บคาร์บอนออกไปจากบรรยากาศได้สามหน่วย

ปูนซีเมนต์ที่ใช้กันอยู่ทั่วไปเป็นตัวการสำคัญอันดับสาม ที่ทำให้ในบรรยากาศมีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มขึ้น เนื่องจากเตาเผาสำหรับทำปูนซิเมนต์เหลวนั้นต้องใช้ความร้อนสูง บริษัทคาเลร่าผลิตปูนซีเมนต์โดยไม่ต้องใช้ความร้อนสูง ทั้งนี้ โดยใช้กรรมวิธีที่จดสิทธิบัตรไว้แล้วซึ่งเลียนแบบวิธีที่ธรรมชาติ ทำให้วัสดุที่แข็งแกร่งทนทานในฟัน กระดูก และเปลือกหอยทะเลงอก

คุณเบรนท์ คอนสแตนท์ซ กล่าวว่า เทคโนโลยีของบริษัทของเขามุ่งกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่สถานประกอบอุตสาหกรรมใหญ่ๆ อย่างเช่น โรงไฟฟ้าที่ใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงปล่อยออกมา กรรมวิธีที่บริษัทคาเลร่าใช้ก็คือ เอาก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ผสมกับน้ำทะเลรสเค็มจัดและกร่อย หรือผสมกับน้ำเสียจากบริเวณทุ่งน้ำมัน หรือผสมกับน้ำเค็มอื่นๆ กรรมวิธีดังกล่าว ทำให้แร่ต่างๆ ในน้ำผสมกับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และกลายเป็นอนุภาคของหินปูนสังเคราะห์

ผลพลอยได้ก็คือ น้ำที่เค็มจัดนั้นทำให้กลายเป็นน้ำสำหรับดื่มกินได้ง่ายยิ่งขึ้น

บริษัทคาเลร่าทดลองเรื่องทั้งหมดนี้ในห้องแล็บ ขณะนี้ทางบริษัทกำลังเตรียมดำเนินงานดังกล่าวที่โรงไฟฟ้าใหญ่ที่สุดในรัฐแคลิฟอร์เนีย ซึ่งตั้งอยู่ที่บริเวณมอสส์ แลนดิ้ง ทางชายฝั่งใกล้กับนครซานฟรานซิสโก

ตั้งแต่เดือนมกราคมปีหน้า บริษัทคาเลร่ามีแผนจะกักเก็บก๊าซที่ปล่อยออกมาทางปล่องไฟของโรงไฟฟ้าไดเนจี้ ซึ่งใช้ก๊าซเป็นเชื้อเพลิงในการขับดันเครื่องกังหันยักษ์ เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าให้คนราวสองล้านคนใช้นั้นให้ได้หนึ่งเปอร์เซ็นต์ โดยกักเก็บผ่านทางท่อขนาดใหญ่มหึมาที่วางข้ามถนน ไปสู่โรงงานปูนซีเมนต์เขียวของบริษัทคาเลร่า บริษัทคาเลร่าหวังว่า จะกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ปล่อยออกมาทางปล่องไฟนั้นไว้ร้อยละแปดสิบ และกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์นั้นไว้ในส่วนผสมของซีเมนต์ที่จดสิทธิบัตรไว้แล้วนั้น

คุณจิม ด็อดสัน ผู้จัดการของโรงไฟฟ้าที่บริเวณ มอสส์ แลนดิ้ง คิดว่า เทคโนโลยีดังกล่าวอาจทำให้กระบวนการกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เปลี่ยนแปลงไปโดยสิ้นเชิง

กระทรวงพลังงานอเมริกันกำลังแสวงหาเทคโนโลยีใหม่ๆ ในการสะกัดเก็บคาร์บอนที่จะช่วยให้สะกัดเก็บคาร์บอนที่เกิดจากการผลิตพลังงานนี้ ให้เหลือต่ำกว่าสามสิบเปอร์เซ็นต์

คุณเบรนท์ คอนสแตนท์ซ แห่งบริษัทคาเลร่า กล่าวว่า วิธีการผลิตปูนซีเมนต์ซึ่งเสียค่าโสหุ้ยต่ำ เมื่อเปรียบเทียบกันดูแล้วสามารถทำงานได้ดีกว่านั้น ซึ่งจะช่วยลดการสูญเสียพลังงานไปเปล่าๆ ได้ครึ่งหนึ่ง โดยทำให้การสูญเสียอยู่ในระดับไม่ถึงสิบห้าเปอร์เซ็นต์ เขากล่าวด้วยว่า ลู่ทางที่จะได้กำไรจากปูนซีเมนต์เขียวของบริษัทคาเลร่านี้ จะชดเชยการที่ผลผลิตของโรงไฟฟ้าลดลงนั้นได้อย่างสมบูรณ์ และยังจะลดสิ่งที่พลอยโดนปล่อยออกมาด้วยนั้นหมดสิ้นไป

แต่ผู้เชี่ยวชาญด้านการผลิตปูนซีเมนต์แบบเดิมๆ รวมทั้งคุณสตีฟ รีจิส รองประธานบริษัทแคล-พอร์ตแลนด์ ซีเมนต์ ยังไม่เชื่อเรื่องนั้น เพราะยังไม่เห็นหลักฐานใดๆ แต่คุณสตีฟ รีจิส ต้องการให้กักเก็บคาร์บอนให้ได้มากขึ้น และอุตสาหกรรมคอนกรีตมีความกระตือรือร้นที่จะตรวจสอบผลิตภัณฑ์ของบริษัทคาเลร่า.


อ้างอิง : http://www.sudipan.net/phpBB2/viewtopic.php?t=23494

คำอฐิษฐานจิตประจำวัน


บุญใด ที่ข้าพเจ้าใด้ทำในบัดนี้ เพราะบุญนั้น และการอุทิศแผ่ส่วนบุญนั้น ขอให้ข้าพเจ้า ทำให้แจ้ง โลกุตตระธรรม ๙ ในทันที ข้าพเจ้า เป็นผู้อาภัพอยู่ ยังต้องท่องเที่ยวไป ในวัฏฏสงสาร

ขอให้ข้าพเจ้า เป็นเหมือนพระโพธิสัตว์ ผู้เที่ยงแท้ ได้รับพยากรณ์ แต่พระพุทธเจ้าแล้ว ไม่ถึงฐานะ แห่งความอาภัพ ๑๘ ประการ

ขอให้ข้าพเจ้า พึงเว้นจากเวรทั้ง ๕ พึงยินดีในการรักษาศีล ไม่เกาะเกี่ยวในกามคุณทั้ง ๕ พึงเว้นจากเปลือกตมดังกล่าว คือ กามคุณ

ขอให้ข้าพเจ้า ไม่พึงประกอบด้วย ทิฏฐิชั่ว พึงประกอบด้วย ทิฏฐิที่ดีงาม ไม่พึงคบมิตรชั่ว พึงคบแต่บัณฑิตทุกเมื่อ

ขอให้ข้าพเจ้า เป็นบ่อที่เกิดแห่งคุณ คือ ศรัทธา สติ หริ โอตัปปะ ความเพียร และขันติ พึงเป็นผู้ที่ ศัตรูครอบงำไม่ได้ ไม่เป็นคนเขลา คนหลงงมงาย

ขอให้ข้าพเจ้า เป็นผู้ฉลาดในอุบาย แห่งความเสื่อม และความเจริญ เป็นผู้เฉียบแหลม ในอรรถและธรรม ขอให้ญาณของข้าพเจ้า เป็นไปไม่ข้องขัด ในธรรมะที่ควรรู้ ประดุจลมพัดไปในอากาศฉะนั้นความปราถนาใดๆ ของข้าพเจ้า ที่เป็นกุศล ขอให้สำเร็จ โดยง่ายทุกเมื่อ คุณที่ข้าพเจ้า กล่าวมาแล้วทั้งปวงนี้ จงบังเกิดมีแก่ข้าพเจ้า ทุกภพทุกชาติ เมื่อใด พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้แสดงธรรมเครื่องพ้นทุกข์ เกิดขึ้นแล้วในโลก เมื่อนั้น ขอให้ข้าพเจ้า พ้นจากกรรมอันชั่วช้าทั้งหลาย เป็นผู้ได้โอกาส แห่งการบรรลุธรรม

ขอให้ข้าพเจ้า พึงได้ความเป็นมนุษย์ ได้เพศบริสุทธิ์ ได้บรรพชา อุปสมบทแล้ว เป็นคนรักศีล มีศีล ทรงไว้ซึ่งพระศาสนา ของพระบรมศาสดา

ขอใด้เป็นผู้มีการปฏิบัติธรรมได้ โดยสะดวก ตรัสรู้ได้พลัน กระทำให้แจ้ง ซึ่งอรหัตผลอันเลิศ อันประกอบด้วยธรรมะ มีวิชชา เป็นต้น

ถ้าหากพระพุทธเจ้า ไม่บังเกิดขึ้น แต่กุศลธรรม ของข้าพเจ้า เต็มเปี่ยมแล้ว เมื่อเป็นเช่นนี้ ขอให้ข้าพเจ้า พึงได้ญาณ เป็นเครื่องรู้เฉพาะตน อันสูงสุดเทอญฯ



อ้างอิง : http://www.numsai.com/

'แพทย์' แนะอบสมุนไพรให้ถูกวิธี






ทุกวันนี้บรรดาคนรักสุขภาพทั้งหลายต่างใส่ใจและสนใจศาสตร์การแพทย์ทางเลือกมากขึ้น การอบสมุนไพรก็เป็นอย่างหนึ่งที่อยู่ในความนิยม ปัจจุบันซาวน่า สปา โรงแรม โรงพยาบาล แม้กระทั่งสถานบริการการออกกำลังกายหลายแห่งก็เปิดบริการอบสมุนไพรเพื่อตอบโจทย์ความนิยมในส่วนนี้ ทว่าการอบสมุนไพรที่ถูกต้องก็เป็นสิ่งจำเป็นที่ควรคำนึงเพราะเป็นเรื่องของสุขภาพและความปลอดภัยโดยตรง

นพ.สญชัย วัฒนา รองอธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกกล่าวว่า ปัจจุบันการอบสมุนไพรเป็นที่นิยมสำหรับคนที่สนใจการดูแลสุขภาพด้วยการแพทย์แผนไทย มักใช้กับบรรเทาอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อและสตรีหลังคลอด ซึ่งจะช่วยให้กระปรี้กระเปร่า กล้ามเนื้อคลายตัวได้ดี ระบบทางเดินหายใจโล่งขึ้น และการอบสมุนไพรที่ร้อนและทำให้เหงื่อออกนั้น ก็เป็นการขับสารพิษออกมาทางเหงื่อด้วย

"ส่วนใหญ่สมุนไพรที่ใช้ในการอบจะมี 4 กลุ่ม คือสมุนไพรที่มีกลิ่นหอม ,สมุนไพรที่มีรสเปรี้ยวเป็นกรดอ่อนๆ เพื่อชำระสิ่งสกปรกที่ผิวหนัง,สมุนไพรที่เป็นสารประกอบระเหิดได้ เมื่อผ่านความร้อน มีกลิ่นหอม บำรุงหัวใจ และสมุนไพรที่ใช้รักษาเฉพาะโรคและอาการ เช่น สมุนไพรแก้ปวดเมื่อยและบำรุงเส้นเอ็น"

นพ.สญชัย อธิบายต่อว่า จุดสำคัญที่สุดของการอบสมุนไพรคือต้องเป็นไปอย่างถูกวิธี เพื่อความปลอดภัยและได้ผลด้านการบำบัดรักษาอาการต่างๆการอบแต่ละครั้งจะต้องใช้เวลาประมาณครั้งละ 30 นาที โดยทุก 15 นาทีต้องออกมาพัก 1 ครั้ง (3-5 นาที) หรือกรณีการอบครั้งแรกร่างกายยังไม่เคยชิน อาจจะเปลี่ยนเป็นรอบละ 10 นาที รวม 3 ครั้ง และต้องดื่มน้ำทดแทนส่วนที่สูญเสียระหว่างการอบให้เพียงพอ นอกจากนี้ระบบการถ่ายเทอากาศต้องสะดวก ความร้อนอยู่ในอุณหภูมิ ที่พอเหมาะคือ 42 – 45 องศาเซลเซียส

กูรูด้านแพทย์แผนไทยรายนี้ให้ข้อมูลของห้องอบสมุนไพรที่ได้มาตรฐานว่า ขนาดห้อง ควรมีขนาดกว้าง 1.9 เมตร ยาว 1.9 เมตร สูง 2.3 เมตร เพื่อไม่ให้คับแคบเกินไปสามารถให้บริการได้ครั้งละ 3 – 4 คน พื้นและฝาผนัง ควรเป็นพื้นปูนขัดหน้าเรียบ ช่วยให้ง่ายต่อการทำความสะอาด หรืออาจบุด้วยกระเบื้องเคลือบ ช่วยให้สวยงามและทำความสะอาดได้ง่ายเช่นกัน ประตูห้อง ควรเป็นแบบเปิดออก ปิดมิดชิดแต่ไม่มีการล็อคกลอนจากด้านในอาจเจาะเป็นช่องกระจกที่สามารถมองจากภายนอกเห็นภายในห้องได้ ต้องมีเทอร์โมมิเตอร์สำหรับวัดอุณหภูมิ ภายในห้องอบอุณหภูมิ 42 – 45 องศาเซลเซียส ซึ่งสามารถตรวจสอบอุณหภูมิได้ที่ภายนอกห้อง มีนาฬิกาจับเวลาซึ่งสามารถตั้งเวลาได้ มี เครื่องชั่งน้ำหนัก เครื่องวัดความดันโลหิตและปรอทวัดไข้

นพ.สญชัยเน้นว่าในบางกรณีข้อจำกัดทางสุขภาพก็ทำให้ไม่สามารถอบสมุนไพรได้ อาทิ มีไข้สูงมากกว่า 38 องศาเซลเซียส เพราะอาจมีการติดเชื้อโรคต่างๆ เป็นโรคติดต่อร้ายแรงทุกชนิด สตรีขณะมีประจำเดือนร่วมกับมีอาการไข้ และปวดศีรษะร่วมด้วย มีการอักเสบจากบาดแผลต่างๆ อ่อนเพลีย อดนอน อดอาหาร หรือหลังรับประทานอาหารใหม่ๆ ปวดศีรษะชนิดเวียนศีรษะ คลื่นไส้

"ส่วนผู้ที่มีมีโรคประจำตัว ได้แก่ โรคไต โรคหัวใจ โรคลมชัก โรคหอบหืด ระยะรุนแรง โรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจที่รุนแรง ในรายที่มีความดันโลหิตสูงไม่เกิน 180 /110มิลลิเมตรปรอท อาจให้อบได้ตามดุลยพินิจของแพทย์ แต่ควรได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด"

อ้างอิง : http://www.thaihealth.or.th/node/14246

วันจันทร์ที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

วันจันทร์ที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553